April 17, 2015

[Special] GED. 3 Dedicating Months for 1 Missing Year. Part II



หลังที่ได้ทำความเข้าใจและตัดสินใจได้แล้วว่า GED ใช่สำหรับเราหรือเปล่า คราวนี้คำถามที่ผุดขึ้นมาก็คงไม่พ้น 'แล้วจะอ่านหนังสือยังไงดี ไปติวดีกว่าไหม?' จริงๆแล้วเราอยากให้ทุกคนอย่าเพิ่งตัดสินว่าตัวเองทำไม่ได้ อ่านเองไม่ได้ มาลองให้โอกาสตัวเองได้ลองก่อนดีไหมคะ  :D



__________________________

เริ่ม! อ่านเองได้ไหม ทำอย่างไรล่ะ?
__________________________

อ่านได้อยู่แล้ว(เพราะเรายังอ่านเลย) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องมาพิจารณาตัวเองดูก่อนว่าสามารถอ่านหนังสือคนเดียวได้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน อย่างเราด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือ(ไม่ใช่หนังสือเรียน5555) มาตั้งแต่เด็กๆ เลยทำให้การอ่านหนังสือเรียนไม่เป็นปัญหาสำหรับเราเท่าไหร่ แต่กับบางคนอาจชอบให้คนอื่นอธิบายให้ฟังมากกว่า ถ้ารู้ตัวเองว่าอ่านเองคงไม่ไหวแน่ เราแนะนำให้ไปหาคนที่เก่งภาษาอังกฤษมาช่วยอธิบายเพิ่ม ถ้าเป็นวิชาพวกวิทยาศาสตร์หรือเลขก็ต้องดูอีกทีว่าเขาอธิบายเราได้ไหม หรืออีกกรณีถ้าอยากเอาความมั่นใจและมีงบก็ไปลงคอร์สติวสอบ GED ตามสถาบันต่างๆก็ได้เหมือนกันเพราะอาจารย์จะมีประสบการณ์มากกว่า



______________________

แล้วเราทำอย่างไรตอนนั้น?
______________________

ด้วยความที่เราไม่รู้จักการสอบ GED มาก่อนเลย และไม่มีคนรู้จักให้ปรึกษา เราเลยตัดสินใจปรึกษากับสถาบันแห่งหนึ่งและได้ลองทำ pre-tests แต่ละวิชา ซึ่งผลคะแนนออกมาค่อนข้างใช้ได้ มีเพียงบางวิชาที่ทางสถาบันแนะนำให้ติวเพิ่ม คือ Reading และ Social Studies เราคุยกับคุณแม่ได้ว่าจะลง Reading ไปก่อนวิชานึงและซื้อหนังสือมาจากสถาบันวิชาที่เหลือมาอ่านเอง เพราะเราคิดว่าเราน่าจะอ่านเองได้ และคอร์สวิชาหนึ่งก็ค่อนข้างสูงซึ่งเราไม่อยากเสียดายเงิน ถ้าอ่านเองแล้วสอบไม่ผ่านเราถึงจะมาลงคอร์สเรียนเอาเพิ่มแล้วไปสอบใหม่ ซึ่งตอนนั้นค่อนข้างกดดันเพราะอย่างที่บอกคือต้องรออีก 90 วันถึงสอบได้ และเราไม่อยากเสียเวลาเพราะมันจะทำให้แผนการอ่านหนังสือสอบอื่นๆของเราเลื่อนหมด เพราะฉะนั้น เราขอแนะนำให้ไปลองทำข้อสอบ practice tests แต่ละวิชา(ซึ่งเสิร์ชได้ตาม Google เลย เสิร์ชว่า GED practice tests หรือไม่ก็เว็บหลักเลย คลิก)ดูก่อน และดูว่าเราอ่อนอะไร วิชาไหนได้คะแนนดีก็ดูว่าเราพร้อมที่จะสอบเลยไหม ถ้ามั่นใจก็ลงวันสอบเลย ถ้ายังก็หาหนังสือแบบฝึกหัดมาทำเพิ่มเติมจนกว่าเราจะมั่นใจ ส่วนวิชาที่เรายังไม่คล่องก็อาจจะใช้เวลาสักหน่อยในการอ่าน และเราก็ขอแนะนำให้อ่านหนังสือและสอบตอนปิดเทอมเพราะเราจะได้อ่านได้อย่างเต็มที่ ตอนนั้นเราสอบไปก่อนหนึ่งวิชาช่วงมีนาแล้วก็ไปซัมเมอร์ที่อเมริกา 1 เดือน กลับมาเมืองไทยเปิดเทอมแล้วถึงได้เริ่มอ่านวิชาที่เหลือ ซึ่งจะค่อนข้างหนักเพราะมีการบ้านด้วย และยังต้องอ่านเตรียมสอบ GED ด้วย ถ้าเหนื่อยก็หยุดพักก่อนแล้วค่อยมาจับใหม่ เราเองใช้เวลาทั้งหมดในการอ่าน+สอบทั้งหมดประมาณ 2-3 เดือน)




___________________________________

เมื่อสอบ GED ผ่านแล้ว ทำไงต่อ?

___________________________________

ขั้นแรกเลยค่ะ เราต้องมาพิจารณาว่ามหาลัยและคณะที่เราจะยื่นนั้น ต้องการวุฒิแบบไหน แบบม.6 เทียบเท่าหรือว่าแค่ GED ก็พอ** ถ้าเราจะต้องใช้วุฒิม.6 เทียบเท่า เราก็ต้องไปยื่นคำร้องขอเทียบวุฒิการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยศึกษาและเตรียมเอกสารได้จาก ที่นี่  รวมถึงกรอกเอกสารคำร้อง ที่นี่ และนำเอกสารไปยื่นที่กระทรวง จะมีค่าใช้จ่ายค่ายื่นคำร้องนิดหน่อย หลังจากนั้นก็รอประมาณ 2-3 เดือนสำหรับการดำเนินการ ในระหว่างนั้นเราสามารถโทรไปสอบถามความคืบหน้ากับทางกระทรวงได้นะคะ 

ถ้าไม่่สามารถไปยื่นด้วยตนเองได้ สามารถทำเอกสารมอบอำนาจ(ที่นี่)ให้คนอื่นยื่นแทนได้ โดยเขียนใบมอบอำนาจให้เรียบร้อยรวมทั้งเซ็นต์ชื่อกำกับในสำเนาเอกสารให้ครบด้วยนะคะ 

และในกรณีที่เราต้องการใช้วุฒิก่อน เราสามารถให้กระทรวงออกใบเทียบวุฒิชั่วคราวได้ ซึ่งเราสามารถเอาไปยื่นกับมหาลัยก่อนได้ แต่ก็ต้องนำเอกสารใบเทียบวุฒิมายื่นแก่ทางมหาลัยทีหลังด้วยนะคะ

**กรณีที่วุฒิ GED ออกโดย Mississippi Community College Board, State Board of Education ไม่ต้องขอเทียบวุฒิการศึกษาเป็นรายบุคคล

ส่วนใครที่ยังไม่เข้าใจสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมจากเพจเด็กนอกแอดมิชชั่นได้ กดเลย


______________________________________

ลิสต์มหาวิทยาลัยและเกณฑ์ตัวอย่างที่รับ GED

______________________________________

มหาวิทยาลัยรัฐบาล

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคอินเตอร์ เช่น BALAC, CommDe, INDA, BBA etc.
ดูรายละเอียดแต่ละคณะเพิ่มเติม คลิก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคอินเตอร์ เช่น BE, BAS, BMIR, BEC, BBA, GSSE etc.
ดูรายละเอียดแต่ละคณะเพิ่มเติม คลิก

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC)

ดูรายละเอียดแต่ละคณะเพิ่มเติม คลิก

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือ BFA

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ คือ B.A. (Sustainable Tourism)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

มหาวิทยาลัยเอกชน เช่น 


มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

มหาวิทยาลัยรังสิต

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

ข่าวดีคือ  วุฒิ GED เมื่อนำไปยื่นขอวุฒิม.6เทียบเท่าแล้ว เราจะมีสิทธิ์ในการสอบ ​Admission ได้ด้วย เพียงแต่นักเรียนที่มีวุฒิม.6เทียบเท่า จะต้องไปสมัครสอบ O-net สำหรับนักเรียนเทียบเท่าด้วยตนเอง จากที่ปกติแล้วโรงเรียนจะเป็นผู้สมัครให้ แถมนักเรียนเทียบเท่ายังสามารถสมัครสอบกสพท.ได้อีกด้วยค่ะ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมถามไปที่สำนักงานอีกทีเลยน้าเพื่อความแน่ใจ :)




__________________________________________

สรุปค่าใช้จ่ายโดยรวม(ไม่รวมค่าเดินทาง)
__________________________________

ค่าเรียน 1 วิชา  20,000 บาท
ค่าสอบวิชาละ $50(~1609 บาท) ทั้งหมดเป็น ~8045 บาท
ค่าคำร้องขอเทียบเท่า  200 บาท
รวมทั้งหมด ~28,245 บาท
___________________________


XX,
T. Mind R.


1 comment:

  1. A writer should always try to keep its writing very simple and clear. Always use facts which are easily acceptable by general people because they are very close to their assumptions and they welcome such kind of facts.เรียน ged

    ReplyDelete